เห็ดพิษ...อันตรายถึงชีวิต
เห็ดพิษในประเทศมีหลายชนิด เช่น เห็ดระโงก เห็ดไข่ตายซาก เห็ดแดงน้ำหมาก เห็ดระโงกหิน เห็ดสมองวัว เป็นต้น แต่หลายครั้งที่ผู้เก็บเห็ดป่าเอามาขายอาจไม่มีความรู้ดีพอที่จะแยกเห็ดกิน ได้และเห็ดพิษออกจากกัน ดังนั้น ผู้บริโภคจึงควรใช้ความระมัดระวังในการเลือกซื้อ เพราะเห็ดพิษหลายชนิดจะคล้ายคลึงกับเห็ดที่รับประทาน หากไม่แน่ใจว่าเป็นเห็ดที่มีพิษหรือไม่ ก็ไม่ควรรับประทานเพราะจะเป็นอันตรายกับตัวเองได้
ลักษณะของเห็ดพิษ มีดังนี้
1.ส่วนใหญ่เจริญงอกงามในป่า
2.ก้านสูง ลำต้นโป่งพองออก โดยเฉพาะที่ฐาน และวงแหวนเห็นชัดเจน
3.สีผิวของหมวกมีได้หลายสี
4.ผิวของหมวกเห็ด ส่วนมากมีเนื้อเยื่อหุ้มดอกเห็ดเหลืออยู่ในลักษณะที่ดึงออกได้ หรือเป็นสะเก็ดติดอยู่
5.ครีบแยกออกจากกันชัดเจน มักมีสีขาว บางชนิดสีแดงหรือสีเขียวอมเหลือง
6.สปอร์ใหญ่มีสีขาวหรือสีอ่อน มีลักษณะใสๆ เป็นรูปไข่กว้าง
วิธีการง่ายๆ ที่ใช้ ทดสอบ เช่น
1. นำไปต้มกับข้าวสาร ถ้าเป็นเห็ดพิษ ข้าวสารจะสุกๆ ดิบๆ หรือไม่สุก
2. ใส่หัวหอมลงไปในหม้อต้มเห็ด ถ้าเห็ดเป็นพิษ น้ำต้มเห็ดจะเปลี่ยนเป็นสีดำ
3. ในขณะที่ต้มเห็ด ถ้าใช้ช้อนที่เป็นช้อนเงินแท้ลงไปคน ถ้าเห็ดเป็นพิษ ช้อนจะเปลี่ยนเป็นสีดำ
4. ใช้มือถูหมวกดอกเห็ดจะเกิดแผล ถ้ารอยแผลมีสีดำ แสดงว่าเป็นเห็ดพิษ
5. ทดสอบโดยการสังเกตดูดอกเห็ด ถ้ามีรอยแมลงสัตว์กัดกิน แสดงว่าไม่มีพิษ
การปฐมพยาบาลเบื้องต้น
การปฐมพยาบาลนั้น ที่สำคัญที่สุดคือ ทำให้ผู้ป่วยอาเจียนเอาเศษอาหารที่ตกค้างออกมาให้มาก และทำการช่วยดูดพิษจากผู้ป่วยโดยวิธีใช้น้ำอุ่นผสมผงถ่าน activated charcoal แล้วดื่ม 2 แก้ว โดยแก้วแรก ให้ล้วงคอให้อาเจียนออกมาเสียก่อน แล้วจึงดื่มแก้วที่ 2 แล้วล้วงคอให้อาเจียนออกมาอีกครั้ง จึงนำส่งแพทย์ พร้อมกับตัวอย่างเห็ดพิษหากยังเหลืออยู่